วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเขียนเรื่องสู่การพัฒนาเป็นหนังสือเล่มเล็ก

เมื่อตอนที่ครูลินลดาเป็นเด็กๆ จะเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก อ่านได้ทุกเรื่อง อ่านได้ทุกอย่าง อ่านได้ทุกที่ โดยเฉพาะหนังสือนวนิยาย จำได้ว่าเริ่มอ่านนวนิยายเป็นตั้งแต่อยู่ชั้น ป.2 ครั้งแรกที่อ่านคือได้อ่านเรื่อง นิกกับพิม เป็นหนังสือที่เขียนเรื่องของหมาได้อย่างน่ารัก อ่านแล้วทำให้รักหมาอยากเลี้ยงหมา และทำให้อยากอ่านนิยายเล่มอื่นๆ มีวิวัฒนาการในการอ่านนิยายมากขึ้นเรื่อยๆ จากเล่มเล็กๆ กลายเป็นนิยายเล่มหนาๆ เมื่อนิยายในห้องสมุดถูกอ่านจนหมดก็ไปเช่าอ่านที่ร้านเช่าหนังสือ ปั่นจักรยานไป จนถูกหมาที่ตลาดกัด บางทีก็แอบอ่านตอนกลางคืน แม่บอกให้นอนก็นอนแอบอ่านในผ้าห่ม ติดนิยายมาก แล้วก็นิสัยเสียชอบอ่านหนังสือบนรถ บางทีไปเที่ยวกันในครอบครัวจะมีหนังสือติดมือหนึ่งเล่ม ใครจะไปไหนก็ไปแต่ฉันจะนั่งอ่านหนังสือในรถ ใครจะทำอะไรก็ทำไป แต่ฉันจะนั่งอ่านหนังสือ เป็นอย่างนี้จนโต บางทีก็แอบไปเช่าอ่านหนังสือ ที่บอกว่าแอบเพราะแม่เห็นว่าอ่ายนิยายมากๆจะไม่ดีต้องอ่านหนังสือเรียน ก็หนังสือเรียนอ่านในห้องเรียนแล้วนี่ อยากอ่านนิยายนี่นา น้องๆก็จะเป็นลูกคู่ในการแอบซ่อนหนังสือจากแม่ เป็นประจำ สิ่งที่เห็นได้อย่างเด่นชัดคือ เวลาที่ครูบอกให้เขียนเรียงความหรือเขียนเรื่อง แต่งเรื่อง แต่งคำประพันธ์ จะสามารถมากๆ เขียนได้ทุกอย่างที่ครูต้องการ เขียนได้เร็วด้วยแหละขอให้บอกเถอะ คงเป็นเพราะอ่านมากทำให้เขียนได้มาก เพราะฉะนั้น เวลาให้เด็กๆเขียนเรื่อง ใครที่จดๆจ้องๆเขียนไม่ออกสักที รู้ได้เลยว่า คนนั้นไม่ชอบอ่านแน่นอน เพราะการที่เราจะเขียนได้เราต้องอ่านเป็น ที่สำคัญเป็นการฝึกวิเคราะห์ได้อย่างดี จึงพยายามสอดแทรกให้เด็กๆมีกิจกรรมในการอ่านและเขียนให้มากๆ อ่านมาก คิดมาก เขียนได้มากมันเหมือนกับว่าเรามีต้นทุนที่กักเก็บไว้ในสมองเยอะ เวลาที่เราจะใช้เขียนเรื่องอะไร แนวไหน เราก็เบิกมาใช้ได้เลย พอได้ทำงานจากที่เคยเช่าหนังสือจนเจ้าของร้านบอกว่าไม่มีหนังสือใหม่แล้วก็เลยซื้ออ่านเองซะเลย เป็นคนที่ชอบสะสมหนังสือนวนิยายมากๆ มีนักเขียนในดวงใจหลายคน ก็ว่าจะลองแต่งเองบ้างแต่กลัวไม่มีคนอ่าน เป็นอีกหนึ่งความฝันที่อยากจะทำมาก ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะสมหวัง แต่ตอนนี้ฝึกให้เด็กๆเป็นนักเขียนก่อน เมื่อตอนที่จัดกิจกรรมให้เด็กๆได้แข่งกันเขียนหนังสือเล่มเล็กในห้องสมุดก็สนุกมาก ได้เห็นความสามารถในทักษะภาษาไทยของเด็กๆ เพราะการแต่งหนังสือเล่มเล็ก เป็นสุดยอดของภาษาไทยที่มองเห็นพัฒนาการของเด็กๆว่าเขามีความรู้และความคิดสร้างสรรค์มากน้อยแค่ไหน เราคัดกันตั้งแต่ในห้องเรียนเพื่อส่งเข้าแข่งขันในห้องสมุดโดยไม่จำกัดทีม จำได้ว่า แต่ละห้องให้ความร่วมมือดีมาก คุณครูช่วงชั้นที่สองคัดเลือกทีมเด็กๆส่งมาแข่งขันกันเกือบยี่สิบทีม กว่าจะได้ทีมที่ชนะก็คัดแล้วคัดอีก แล้วก็ไม่ผิดหวัง เพราะทีมที่ชนะเลิศคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/8 นำทีมโดยน้องเอมี่ วาวา และพิงกี้ ต่อจากนั้นเราก็ฝึกกันต่อเพื่อเข้าร่วมแข่งขันในระดับเขต ทีมของเราชนะได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันต่อ แต่เราก็รู้จุดอ่อนของเราที่จะต้องพัฒนาต่อก็คือ เรื่องของเทคนิคในการนำเสนอ ไม่ใช่ว่าเนื้อเรื่องดีแล้วจะชนะนะ มันจะต้องมีลูกเล่น เช่น เทคนิคการตกแต่งภาพ ทำเป็นภาพ 3 มิติ ภาพพลิกป๊อปอัพ การใช้สี ฯลฯ แต่ที่สำคัญคือเด็กๆได้ประสบการณ์ในการแข่งขันเต็มๆ ครูก็ได้นั่งลุ้นกันทั้งวัน ไม่เป็นไร ปีหน้ามาแข่งกันใหม่ จะฝึกปรือให้เด็กๆ ได้ใช้ทักษะภาษาไทยคล่อง วาดเขียนเก่ง เทคนิคดี แค่นี้ก็ฉลุยแล้ว พบกันในสนามแข่งปีหน้าแน่นอนขอบอก สำหรับปีนี้ ดูภาพบรรยากาศการแข่งขันก่อนนะ หรือจะดูผลงานของทีมที่ชนะก็ได้จ้ะ อ้อ..วันแข่งน่ะ ทีมของเราร่ำร้องจะกินไก่ KFC เป็นรางวัล ก็ไม่เป็นไรครูขวัญทุ่มทุนสร้าง แล้วปีหน้าจะกินอะไรกันล่ะเนี่ย ครูต้องเตรียมต้นทุนไว้เหมือนกันนะ อิ อิ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น