วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเขียนเรื่องสู่การพัฒนาเป็นหนังสือเล่มเล็ก

เมื่อตอนที่ครูลินลดาเป็นเด็กๆ จะเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก อ่านได้ทุกเรื่อง อ่านได้ทุกอย่าง อ่านได้ทุกที่ โดยเฉพาะหนังสือนวนิยาย จำได้ว่าเริ่มอ่านนวนิยายเป็นตั้งแต่อยู่ชั้น ป.2 ครั้งแรกที่อ่านคือได้อ่านเรื่อง นิกกับพิม เป็นหนังสือที่เขียนเรื่องของหมาได้อย่างน่ารัก อ่านแล้วทำให้รักหมาอยากเลี้ยงหมา และทำให้อยากอ่านนิยายเล่มอื่นๆ มีวิวัฒนาการในการอ่านนิยายมากขึ้นเรื่อยๆ จากเล่มเล็กๆ กลายเป็นนิยายเล่มหนาๆ เมื่อนิยายในห้องสมุดถูกอ่านจนหมดก็ไปเช่าอ่านที่ร้านเช่าหนังสือ ปั่นจักรยานไป จนถูกหมาที่ตลาดกัด บางทีก็แอบอ่านตอนกลางคืน แม่บอกให้นอนก็นอนแอบอ่านในผ้าห่ม ติดนิยายมาก แล้วก็นิสัยเสียชอบอ่านหนังสือบนรถ บางทีไปเที่ยวกันในครอบครัวจะมีหนังสือติดมือหนึ่งเล่ม ใครจะไปไหนก็ไปแต่ฉันจะนั่งอ่านหนังสือในรถ ใครจะทำอะไรก็ทำไป แต่ฉันจะนั่งอ่านหนังสือ เป็นอย่างนี้จนโต บางทีก็แอบไปเช่าอ่านหนังสือ ที่บอกว่าแอบเพราะแม่เห็นว่าอ่ายนิยายมากๆจะไม่ดีต้องอ่านหนังสือเรียน ก็หนังสือเรียนอ่านในห้องเรียนแล้วนี่ อยากอ่านนิยายนี่นา น้องๆก็จะเป็นลูกคู่ในการแอบซ่อนหนังสือจากแม่ เป็นประจำ สิ่งที่เห็นได้อย่างเด่นชัดคือ เวลาที่ครูบอกให้เขียนเรียงความหรือเขียนเรื่อง แต่งเรื่อง แต่งคำประพันธ์ จะสามารถมากๆ เขียนได้ทุกอย่างที่ครูต้องการ เขียนได้เร็วด้วยแหละขอให้บอกเถอะ คงเป็นเพราะอ่านมากทำให้เขียนได้มาก เพราะฉะนั้น เวลาให้เด็กๆเขียนเรื่อง ใครที่จดๆจ้องๆเขียนไม่ออกสักที รู้ได้เลยว่า คนนั้นไม่ชอบอ่านแน่นอน เพราะการที่เราจะเขียนได้เราต้องอ่านเป็น ที่สำคัญเป็นการฝึกวิเคราะห์ได้อย่างดี จึงพยายามสอดแทรกให้เด็กๆมีกิจกรรมในการอ่านและเขียนให้มากๆ อ่านมาก คิดมาก เขียนได้มากมันเหมือนกับว่าเรามีต้นทุนที่กักเก็บไว้ในสมองเยอะ เวลาที่เราจะใช้เขียนเรื่องอะไร แนวไหน เราก็เบิกมาใช้ได้เลย พอได้ทำงานจากที่เคยเช่าหนังสือจนเจ้าของร้านบอกว่าไม่มีหนังสือใหม่แล้วก็เลยซื้ออ่านเองซะเลย เป็นคนที่ชอบสะสมหนังสือนวนิยายมากๆ มีนักเขียนในดวงใจหลายคน ก็ว่าจะลองแต่งเองบ้างแต่กลัวไม่มีคนอ่าน เป็นอีกหนึ่งความฝันที่อยากจะทำมาก ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะสมหวัง แต่ตอนนี้ฝึกให้เด็กๆเป็นนักเขียนก่อน เมื่อตอนที่จัดกิจกรรมให้เด็กๆได้แข่งกันเขียนหนังสือเล่มเล็กในห้องสมุดก็สนุกมาก ได้เห็นความสามารถในทักษะภาษาไทยของเด็กๆ เพราะการแต่งหนังสือเล่มเล็ก เป็นสุดยอดของภาษาไทยที่มองเห็นพัฒนาการของเด็กๆว่าเขามีความรู้และความคิดสร้างสรรค์มากน้อยแค่ไหน เราคัดกันตั้งแต่ในห้องเรียนเพื่อส่งเข้าแข่งขันในห้องสมุดโดยไม่จำกัดทีม จำได้ว่า แต่ละห้องให้ความร่วมมือดีมาก คุณครูช่วงชั้นที่สองคัดเลือกทีมเด็กๆส่งมาแข่งขันกันเกือบยี่สิบทีม กว่าจะได้ทีมที่ชนะก็คัดแล้วคัดอีก แล้วก็ไม่ผิดหวัง เพราะทีมที่ชนะเลิศคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/8 นำทีมโดยน้องเอมี่ วาวา และพิงกี้ ต่อจากนั้นเราก็ฝึกกันต่อเพื่อเข้าร่วมแข่งขันในระดับเขต ทีมของเราชนะได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันต่อ แต่เราก็รู้จุดอ่อนของเราที่จะต้องพัฒนาต่อก็คือ เรื่องของเทคนิคในการนำเสนอ ไม่ใช่ว่าเนื้อเรื่องดีแล้วจะชนะนะ มันจะต้องมีลูกเล่น เช่น เทคนิคการตกแต่งภาพ ทำเป็นภาพ 3 มิติ ภาพพลิกป๊อปอัพ การใช้สี ฯลฯ แต่ที่สำคัญคือเด็กๆได้ประสบการณ์ในการแข่งขันเต็มๆ ครูก็ได้นั่งลุ้นกันทั้งวัน ไม่เป็นไร ปีหน้ามาแข่งกันใหม่ จะฝึกปรือให้เด็กๆ ได้ใช้ทักษะภาษาไทยคล่อง วาดเขียนเก่ง เทคนิคดี แค่นี้ก็ฉลุยแล้ว พบกันในสนามแข่งปีหน้าแน่นอนขอบอก สำหรับปีนี้ ดูภาพบรรยากาศการแข่งขันก่อนนะ หรือจะดูผลงานของทีมที่ชนะก็ได้จ้ะ อ้อ..วันแข่งน่ะ ทีมของเราร่ำร้องจะกินไก่ KFC เป็นรางวัล ก็ไม่เป็นไรครูขวัญทุ่มทุนสร้าง แล้วปีหน้าจะกินอะไรกันล่ะเนี่ย ครูต้องเตรียมต้นทุนไว้เหมือนกันนะ อิ อิ

บทความด้วยใจที่จงรักภักดี ๘๐ ปี ทำดีเพื่อพ่อหลวงไทย

ในปีมหามงคลที่ผ่านมา พสกนิกรต่างชื่นชมโสมนัส กับการเฉลิมฉลองครบรอบ ๘๐ พรรษามหาราชา  คลื่นมหาชนต่างรุมล้อมเพื่อเลือกซื้อเสื้อสีเหลืองตราสัญลักษณ์  ฉันก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้เลือกสวมใส่เสื้อสีเหลืองเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ท่าน  นอกเหนือไปจากการปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่านเสมอมา
            ฉันมีอาชีพข้าราชการครูที่มีวิญญาณของความเป็นครูอยู่เต็มเปี่ยม  ฉันสำนึกอยู่เสมอถึงบทบาทและหน้าที่ที่พึงกระทำตลอดเวลา  ขอเพียงแต่ได้ปฏิบัติตนตามรอยเบื้องยุคลบาท  เพราะฉันคือแม่พิมพ์ของชาติคนหนึ่งที่จะสามารถสั่งสอนอบรมลูกศิษย์เพื่อให้ซาบซึ้งถึงคำสอนของพระองค์ท่านด้วย
            ฉันเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นหนังสือที่สวยที่สุด เพราะเป็นหนังสือที่สามารถดึงออกมาเป็นภาพได้สวยงามมาก  ในนั้นเป็นเรื่องราวที่เล่าถึงวังสวนจิตรลดา พระราชวังที่ไม่เหมือนใครในโลก  ฉันประทับใจในเนื้อหาของหนังสือเล่มนั้นมาก  และได้นำมาสอนให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้  เพื่อถ่ายทอดพระปรีชาสามารถขององค์ในหลวงที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่เหมือนพระมหากษัตริย์องค์ใดในโลก  เพราะพระองค์ท่านได้แสดงออกถึงความรักและเอาใจใส่ต่อพสกนิกรอย่างแท้จริง  โดยเฉพาะเกษตรกรไทยที่ไม่ค่อยมีผู้ใดเห็นคุณค่าเพราะเป็นแค่ชนชั้นรากหญ้าเท่านั้น  แต่พระองค์ท่านทรงดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างจริงจัง  ทรงทดลองเรียนรู้แก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน  แล้วจึงขยายผลให้เกษตรกรต่อไป  ฉันประทับใจภาพที่พระองค์ท่านทรงเกี่ยวข้าว  แม้แดดจะร้อนพระเสโทจะรินไหล แต่พระพักตร์ของพระองค์ก็ยังคงแย้มสรวลเมื่อมองเห็นพสกนิกรมีความสุข  ฉันจึงตั้งใจที่จะสั่งสอนให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้คุณค่าของข้าวไทย รวมทั้งความรักเอื้ออาทรที่ชาวนาได้แสดงออก  และสื่อถึงกันอย่างมีความหมายจากประเพณีต่างๆ เกี่ยวกับข้าว  ทำให้ฉันได้คิดโครงการต้นข้าวชาวนาไทย เพื่อทำความฝันของตนเองที่อยากจะสอนให้ลูกศิษย์ ได้เห็นกรรมวิธีการปลูกข้าวตามขั้นตอนวิธีการที่ถูกต้อง  และให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้  ฉันตั้งชื่อโครงการนี้ว่า ร่วมด้วยช่วยกัน  สานฝันเพื่อลูก โดยให้เด็กๆ ปลูกข้าววันแม่ และเกี่ยวข้าววันพ่อ  และมีแรงบันดาลใจ สร้างหนังสือส่งเสริมการอ่าน เรื่อง ต้นข้าวชาวนาไทย เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้คุณค่าของข้าวและหลักปรัชญาชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านบทร้อยกรองคือ บทดอกสร้อยที่เด็กๆ ลูกศิษย์ของฉันในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒  สามารถอ่านได้อย่างถูกต้อง  เพราะว่าฉันใส่ใจในการสอนศิษย์   และฉันได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองเป็นอย่างดียิ่ง  ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างประสบผลสำเร็จสมความตั้งใจอย่างที่ฉันหวังไว้  เพื่อเทิดพระเกียรติองค์ในหลวงของปวงชนชาวไทย  ฉันชอบ ๙ คำสอนของพ่อ และอยากให้ลูกศิษย์  ได้ศึกษาจาก ๙  คำสอนนี้ด้วย  ฉันจึงนำคำกล่าวพระบรมราโชวาททั้ง    ข้อ  มาแต่งเป็นนิทาน    เรื่อง เพื่อสอนสอดแทรกเรื่องราวผ่านพระบรมราโชวาท  โดยใช้ชื่อชุดว่า  คุณธรรม ๙  คำพ่อสอน  ซึ่งก็ประสบความสำเร็จคือ  เด็กๆได้เรียนรู้และนำคำพ่อสอนมาประยุกต์ใช้ต่อไป 
            ทุกวันนี้  ฉันสอนลูกศิษย์อย่างมีความสุขเพราะฉันนำคำที่พระองค์ท่านได้สอนไว้มาเป็นแนวทาง  ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงหรือ   คุณธรรม ๙ คำพ่อสอน   ที่จะเปรียบเสมือนเข็มทิศชีวิตของฉันตลอดไป
๘๐  ปี จงทำดีเพื่อพ่อหลวง                      ผู้ทรงห่วงทุกข์สุขราษฎร์เป็นหนักหนา       
พระผู้เป็นมิ่งขวัญปวงประชา                  สำนึกค่า ๙ คำพ่อสอนลูกไทย
เศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงชาติได้                  พ่อสอนไว้ใช้ได้ทุกยุคสมัย   
เพราะเศรษฐกิจเปรียบรากฐานชีวีไทย     ควรรู้ค่าใส่ใจใฝ่จดจำ
            พระองค์ทรงฝากปรัชญาแห่งชีวิต            เศรษฐกิจพอเพียงไม่เพลี่ยงพล้ำ      
            ยึดเดินทางสายกลางคู่คุณธรรม                นำไปสู่สังคมที่มั่นคง
            พอเพียง พอประมาณ มีเหตุผล                  จะเป็นคนรอบคอบมิใหลหลง         
            เพิ่มภูมิคุ้มกันดีที่มั่นคง                              และซื่อตรงสุจริตไม่คิดพาล
            รู้จักการใช้จ่ายและอดออม                        รู้ถนอมพลังงานช่วยสืบสาน         
            พึ่งตนเองเสียสละหมั่นทำงาน                   อนุรักษ์ของโบราณภูมิปัญญา
            สำคัญคือคุณธรรมประจำใจ                      สี่ประการจดจำไว้ใช้เถิดหนา      
            รักษ์ความสัตย์ข่มใจไว้ทุกครา                   จำไว้ว่าทนอดกลั้นและอดออม
            รู้ระวังความชั่วความทุจริต                        ให้พึงคิดสละส่วนตนถนอม      
            เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่เราต้องยอม              สร้างความพร้อมเสริมชาติไทยก้าวไกลเอย
            โครงการ ร่วมด้วยช่วยกัน  สานฝันเพื่อลูก ปีการศึกษา ๒๕๕๐ โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่

หนึ่งร้อยสิบหกวันจากวันแม่ถึงวันพ่อ    พวกเราขอรู้รักสมัครสมาน
          ร้อยดวงใจเพื่อหนึ่งเดียวในจักรวาล                อนุบาลเชียงใหม่ซาบซึ้งทวี
มโนน้อมค้อมนบอภิวาท                    มหาราชภูมิพลสง่าศรี
แปดสิบเอ็ดชนม์วารกาลรดี                           มนัสปรีย์สรรเสริญจำเริญพร
          พสกนิกรชาวไทยในใต้หล้า                 เปรมปรีดาสุขโขสโมสร
อยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในอมร                 ราษฎรร่มเย็นเป็นสุขใจ
          ด้วยเดชะคุณไกรแห่งไตรรัตน์             ดลพิพัฒน์วัฒนะอดิศัย
พระบุญญาบารมีเกริกเกรียงไกร                    ปราศทุกข์ภัยในผืนแผ่นทั่วนภา
ด้วยสายน้ำสายพระทัยจากในหลวง   ชนทั้งปวงซาบซึ้งใจในคุณค่า
รักจากพ่อใหญ่กว่าผืนพสุธา                          จากฟากฟ้าสร้างศรัทธาสู่แดนดิน
พ่อคือพระผู้ให้ในทุกสิ่ง                     พ่อคือยิ่งยอดปราชญ์ศาสตร์และศิลป์   
พ่อคือพระผู้ยิ่งใหญ่ในดวงจินต์                     ชนถวิลขอพระองค์ทรงพระเจริญ


                                                         ด้วยรักและศรัทธาพ่อหลวงของไทย
                                                                            ข้าพระพุทธเจ้า ครูลินลดา   เชาว์มนัส
                                                                                                                                         

วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การสร้างนวัตกรรม หนังสือส่งเสริมการอ่าน ต้นข้าวชาวนาไทย



ในปีนี้เป็นปีมหามงคลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ครบ  60  ปี และทรงมีพระชนมายุครบ  80  พรรษา และเพื่อให้เยาวชนไทยตัวเล็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านในเรื่องของปรัชญาชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง คุณธรรมนำความรู้ในอันที่จะปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ ในแบบที่ง่ายต่อการเรียนรู้และสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน  ประกอบกับได้จัดการเรียนรู้นอกสถานที่หรือ Field Trip โดยได้จัดให้ผู้เรียนไปเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวนาไทยในอดีต รวมทั้งเรียนรู้เรื่องควายไทยเพื่อให้ผู้เรียนได้ตระหนักในคุณค่าของข้าว ชาวนา และควายไทย โดยใช้แหล่งเรียนรู้ที่ บ้านควายไทย   อ.แม่ริม   จ.เชียงใหม่    แต่ในปีนี้เพื่อเทิดทูนพ่อหลวงไทยจึงได้จัดกิจกรรมในการเรียนรู้ที่บูรณาการดังต่อไปนี้
1.             จัดสร้างนวัตกรรมหนังสือส่งเสริมการอ่าน เรื่อง ต้นข้าวชาวนาไทย
2.             จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยความร่วมมือจากบ้านและโรงเรียนชื่อ โครงการร่วมด้วยช่วยกัน  สานฝันเพื่อลูก โดยมีการจัดกิจกรรมปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ เพื่อเทิดพระเกียรติองค์ในหลวงและจุดประกายให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ด้วยตนเองโดยผ่านความร่วมมือจากผู้ปกครอง
                การทำงานในทุกเรื่องย่อมมีอุปสรรค  จึงใช้คติที่ว่า ปัญหามีไว้ให้แก้ไข จงเอาชนะปัญหาและอุปสรรคทุกเรื่องด้วยความอดทนและใช้วิกฤติเป็นโอกาส เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากการปฏิบัติในการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2   ทำให้ประสบผลสำเร็จในจุดเริ่มต้น และมีพลังที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ภายใต้การจัดการเรียนการสอนต่อไป
  บทดอกสร้อย ต้นข้าวชาวนาไทย
                                      ต้นเอ๋ยต้นข้าว                               เจ้าคือดาวพราวพร่างในใจฉัน
ยามรวงข้าวเหลืองสุกปลั่งอาบแสงจันทร์        ล้อตะวันสาดแสงเปล่งประกาย
กว่าจะเป็นรวงข้าวชาวนาเหนื่อย                    ควายก็เมื่อยอ่อนล้าแรงหดหาย
ต้องไถนาสู้แดดแสบผิวกาย                          เช้าจรดบ่ายชาวนาต้องอดทน
หว่านข้าวกล้าดำนาเต็มท้องทุ่ง                     ใจหวังมุ่งสัมฤทธิ์ผลิตผล
อยู่พอเพียงเศรษฐกิจพึ่งพาตน                      จด จำ จ่าย ไม่มีจนเป็นคนดี
เจ้าเด็กน้อยต้องรู้คุณค่าข้าว                         เมล็ดขาวน้อยนิดคือ วิถี
ไถ หว่าน ดำ ปลูก เกี่ยว ตามวิธี                    ชาวนามีภูมิปัญญาน่าภูมิใจ
                        ด้วยรักและศรัทธาองค์ในหลวง                       ทรงห่วงเกษตรกรผู้ยิ่งใหญ่
                        ทรงคิดหาแนวทางเปลี่ยนนาไร่                    สอนทฤษฎีใหม่ให้คนทดลองทำ
พระองค์ทรงฝากปรัชญาแห่งชีวิต                 เศรษฐกิจพอเพียงไม่เพลี่ยงพล้ำ
                        ยึดเดินทางสายกลางคู่คุณธรรม                   นำไปสู่สังคมที่มั่นคง
                        พอเพียง พอประมาณมีเหตุผล                     จะเป็นคนรอบคอบมิใหลหลง
                        เพิ่มภูมิคุ้มกันดีที่มั่นคง                               และซื่อตรงสุจริตไม่คิดพาล
                        รู้จักการใช้จ่ายและอดออม                          รู้ถนอมพลังงานช่วยสืบสาน
                       พึ่งตนเองเสียสละหมั่นทำงาน                      อนุรักษ์ของโบราณภูมิปัญญา
                       สำคัญคือคุณธรรมประจำใจ                         สี่ประการจดจำไว้ใช้เถิดหนา
                       รักษ์ความสัตย์ข่มใจไว้ทุกครา                      จำไว้ว่า ทน อดกลั้น และอดออม
                       รู้ระวังความชั่วความทุจริต                            ให้พึงคิดสละส่วนตนถนอม
                       เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่เราต้องยอม      สร้างความพร้อมเสริมชาติไทยก้าวไกลเอย

ตัวอย่างหนังสือ

อยากได้หนังสือลอยฟ้าเป็นสื่อการเรียนรู้ หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ที่ linlada-9@hotmail.com

ห้องสมุด Seven G กับนโยบาย ห้องสมุด 3 ดี อนุบาลเชียงใหม่


 ในปีงบประมาณ 2552 กระทรวงศึกษาธิการได้กําหนดแผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายสถานศึกษา 3 ดี (3 D) ซึ่งมีกรอบแนวคิดเพื่อให้ การจัดการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน กระบวนการจัดการศึกษาที่สมบูรณ์จึงเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน คือ ด้านหนึ่งเป็นการจัดการเรียน การสอนและจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษาแต่ละช่วงชั้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ กระบวนการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์มีทักษะการดำรงชีวิต ที่เกิดจากการฝึกหัด สามารถใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและประกอบอาชีพ อีกด้านหนึ่ง คือ เป็นการบ่มเพาะ กล่อมเกลา ปลูกฝัง และปลุกจิตสำนึก เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เกิดความตระหนักในบทบาทหน้าที่ขึ้นในจิตใจ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข สถานศึกษาทุกระดับ ทุกสังกัด และหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนและร่วมจัดการศึกษา จึงมีส่วนสำคัญในการจัดการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมที่จะส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาผู้เรียนอย่างเหมาะสมโดยการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นภารกิจทั้ง 3 ด้าน (3 D) ได้แก่ ด้านประชาธิปไตย (Democracy – D 1) ด้านคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นไทย (Decency – D 2) และด้านภูมิคุ้มกันภัย จากยาเสพติด (Drug – Free – D 3) (กระทรวงศึกษาธิการ, 2552 : 1)
คำว่านโยบายสถานศึกษา 3 ดี (3 D) เป็นที่รู้จักเมื่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบนโยบายสถานศึกษา 3 ดี ให้แก่คณะผู้บริหารการศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด ว่า การจัดการศึกษาตลอดชีวิต ในอนาคตจะต้องปรับปรุง และพัฒนาไปตามทิศทางของการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 โดยเป้าหมาย คือ การทำให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ในทุกระดับ และทุกมิติ โดยมุ่งเน้นการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพที่แท้จริง ซึ่ง   คำว่า ห้องสมุด 3 ดี จะต้องประกอบด้วย


โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้โอกาสประกาศเจตนารมณ์ เริ่ม “ทศวรรษแห่งการอ่านแห่งชาติระหว่างปี 2552-2561 เพื่อสร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตว่ารัฐบาลได้กำหนดให้การส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยกำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น "วันรักการอ่าน" และกำหนดให้ปี 2552- 2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่านของชาติ โดยมอบหมายให้จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานรับผิดชอบ
ในปี 2555 ได้กำหนดเป้าหมายไว้คือจะเพิ่มค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสือของคนไทยเป็นเท่าตัว โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันเพิ่มแหล่งการอ่านที่มีหนังสือดีมีคุณค่าให้ครอบคลุมทุกตำบลหรือชุมชน และสร้างภาคีเครือข่ายการอ่าน เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีพอย่างยั่งยืนนายกฯอภิสิทธิ์กล่าว

            ส่วนยุทธศาสตร์หลัก คือ การพัฒนาคนไทยให้มีความรู้ความสามารถด้านการอ่าน และมีนิสัยรักการอ่านนั้น จะปลูกฝังและสร้างทัศนคติให้เห็นคุณค่าและประโยชน์ของการอ่าน โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเป็นภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน และเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง เพื่อส่งเสริมการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไป นอกจากนี้นายกฯอภิสิทธิ์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หนังสือมีความสำคัญต่อการสร้างเสริมภูมิปัญญาและรักษาองค์ความรู้ต่าง ๆ ตลอดจนเป็นเครื่องมือที่ช่วยแพร่กระจายความรู้ให้ขยายออกไปในวงกว้าง รวมทั้งมีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางความคิดและการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพที่จะมีส่วนในการพัฒนาสังคมต่อไป


เมื่อนำนโยบายห้องสมุด 3 ดี มาพิจารณาร่วมกับการดำเนินงานการจัดการศึกษาของโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ที่มุ่งหวังให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน รวมทั้งตระหนักในความสำคัญของการอ่าน ซึ่งจะต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในองค์กร เพื่อผลักดันให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในเรื่องรักการอ่าน จึงได้นำนโยบายของห้องสมุด 3 ดีมาผนวกกับบริบทของโรงเรียนและสิ่งที่เราอยากให้เกิดกับผู้เรียนให้มากที่สุด เพราะการอ่านที่มีคุณภาพจะต้องมีจุดประสงค์และรู้เป้าหมายว่าอ่านเพื่ออะไร และการอ่านที่ดีคืออ่านแล้วคิดวิเคราะห์เป็น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น     การอ่านจึงต้องมีวัฒนธรรมการอ่านจึงจะเป็นการอ่านอย่างมีคุณภาพ ห้องสมุดโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ ตระหนักดีว่าหนังสือที่ดี ต้องไม่ใช่หนังสือที่ครูนำมาสอนเพียงเท่านั้น เช่นเดียวกันต้องไม่ส่งเสริมความรุนแรง ความดีของหนังสือนั้นจึงต้องแบ่งตามวัย เช่น เด็กเล็กก็ต้องเน้นความสนุกสนานนำ และสอดแทรกความรู้นิดหน่อย ส่วนเยาวชน เขาจะสามารถอ่านสิ่งที่เป็นสาระได้มากขึ้น ซึ่งถ้าเราทำให้เด็กสนุกในการอ่าน เขาก็จะรักในการอ่าน เพราะฉะนั้นไม่ว่าเขาจะอ่านเอาเรื่อง หรือเอาความบันเทิงก็ต้องมีให้พร้อม เพราะฉะนั้นหนังสือที่ดี ต้องให้ข้อคิด ต้องมีความงดงามทางภาษา และต้องตอบโจทย์ของมันได้ เช่น หนังสือบันเทิงคดีอ่านแล้วต้องสนุก ผ่อนคลาย หนังสือสาระก็ต้องมีข้อคิด ที่สำคัญหนังสือที่ดี ต้องมีข้อมูลครบ ถูกต้อง เพราะเด็กอาจจดจำข้อมูลที่ผิดพลาดได้ ส่วนความลึกของเนื้อหานั้นก็จะขึ้นอยู่ในแต่ละวัย และความสนใจต่อหนังสือประเภทนั้นๆด้วย เราจึงเกิดแนวคิดพัฒนาเป็น ห้องสมุด seven G ห้องสมุดกรรณิการ์ ส่งเสริมการค้นคว้า พัฒนารักการอ่าน ที่อนุบาลเชียงใหม่ เพื่อให้ตรงกับวิสัยทัศน์ห้องสมุดของเรา คือ ส่งเสริมการอ่าน ผสานความรู้คู่ความดี มีการเชิดชูคนขยัน สร้างสรรค์การค้นคว้า ล้ำหน้าด้วยเทคโนโลยี พัฒนาให้เด็กมีความเป็นเลิศ โดยมีรูปแบบและเป้าหมายของห้องสมุด seven G ดังนี้


การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาให้เป็นห้องสมุด seven G จะไม่มีวันเป็นจริงได้ถ้าขาดความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะบ้านกับโรงเรียน เรามาร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์ของลูกหลานในอันที่จะสร้างความเจริญงอกงามทางปัญญาที่ไม่อยากให้เสื่อมสลายตามกาลเวลา และส่งเสริมให้ทุกคน ได้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง ดูภาพเพิ่มเติม
ครูขวัญ linlada-9@hotmail.com