วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

คำถามสำคัญของหนังสือส่งเสริมการอ่านลอยฟ้า เรื่อง ต้นข้าวชาวนาไทย ในการส่งสื่อนวัตกรรมเข้าร่วมประกวด

คำถามที่  1  จุดเริ่มต้นหรือแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมนี้
เมื่อเริ่มแรกที่คิดโครงการนี้ในปีการศึกษา 2547 เพราะเกิดปัญหาคือ เด็กไม่ค่อยทานข้าวไม่รู้คุณค่าของข้าวและควายไทยและอยากให้เขาได้สัมผัสกับบรรยากาศแบบไทยในการทำนา จึงจัดทำหลักสูตรการศึกษาเรียนรู้นอกสถานที่ (Field Trip) โดยพาไปศึกษาที่บ้านควายไทย  อ.แม่ริม   จ.เชียงใหม่ เมื่อเรียนรู้ตามขั้นตอนแล้วผลปรากฏว่าเด็กได้อะไรมากกว่าการเรียนแบบปกติ  จึงเริ่มพัฒนาสื่อการเรียนรู้ทุกปี จนกระทั่งถึงปีการศึกษา 2550  ได้เริ่มสร้างหนังสือส่งเสริมการอ่าน เรื่องต้นข้าวชาวนาไทย เพื่อสนองนโยบายของชาติและเฉลิมฉลองปีมหามงคลขององค์ในหลวง ได้จัดทำโครงการร่วมด้วยช่วยกัน สานฝันเพื่อลูก ร่วมกับผู้ปกครองในการทำนาในสวนเกษตรของโรงเรียน  ผลสำเร็จเกินความคาดหมายเมื่อเขาได้ในสิ่งที่เราต้องการให้    ไม่ว่าเรื่องความตระหนักในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ความสำนึกในคุณค่าของข้าวและควายไทย   และความรักที่ถวายแด่องค์ในหลวง  จากการประเมินการจัดการเรียนรู้เมื่อเด็กๆได้เรียนรู้จากโครงการตามหลักสูตรดังกล่าวแล้ว เด็กๆบอกว่าอยากนำหนังสือกลับไปอ่านที่บ้านด้วยจะได้ฝึกท่องบทดอกสร้อยแต่ค่าหนังสือที่พิมพ์สี่สีต่อเล่มจะมีราคาสูง ในปีการศึกษา 2551 จึงคิดริเริ่มจัดทำเป็นหนังสือส่งเสริมการอ่านลอยฟ้า เรื่อง ต้นข้าวชาวนาไทย ที่ใช้ ICT มาเป็นสื่อนำ โดยนักเรียนจะต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็น ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารและพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งปรากฏว่านักเรียนสนุกกับการเรียนรู้และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์นำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตได้ สมกับเจตนารมณ์ที่ครูตั้งไว้ เพราะหนังสือลอยฟ้า คือ ฟ้าที่หมายถึงองค์ในหลวง และฟ้าที่เราทุกคนอยู่ใต้ฟ้าเดียวกันสามารถอ่านหนังสือลอยฟ้าเล่มนี้ได้เหมือนกันเพราะเรามี คอมพิวเตอร์และสามารถใช้ Internet เพื่อการเรียนรู้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

                คำถามที่  2  ในความคิดของท่านคิดว่าลักษณะเด่นและจุดเด่นของนวัตกรรมที่ทำคืออะไร
การที่นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง และการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองคือลักษณะเด่นของผลงานนี้เพราะหลังจากประสบความสำเร็จจากการใช้สื่อหนังสือส่งเสริมการอ่าน เรื่องต้นข้าวชาวนาไทย ที่มีหนังสือ และเสียงของครูที่อ่านเป็นทำนองเสนาะประกอบหนังสือเป็นเสียง CD.ที่ฟังจากคอมพิวเตอร์ประกอบการอ่าน ในปีการศึกษา 2550 ที่เด็กๆ ก็สามารถบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกับผู้ปกครองสร้างทุ่งนาจำลองในสวนเกษตรของโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ ถึงแม้จะไม่ได้ผลผลิตคือเมล็ดข้าวมากมายนักเพราะว่ามีฝูงนกมาจิกกิน แต่เด็กๆ ก็ได้ทดลองตามขั้นตอนการปลูกข้าวทำนาทั้งนาหว่านและนาดำ  ที่เริ่มตั้งแต่ ไถนา เตรียมดิน หว่านข้าวดูแลและกำจัดวัชพืช และเกี่ยวข้าว ครูจึงคิดพัฒนาสื่อเพราะว่าต้นทุนของหนังสือที่เป็นภาพสี่สีมีราคาแพง และอยากสร้างสื่อที่มีทั้งภาพและเสียงประกอบกัน จึงสแกนภาพจากหนังสือเพื่อทำเป็นหนังสือ e-book แต่เมื่อทดลองใช้แล้วกลับไม่ดีเท่าที่ควร จึงปรับเปลี่ยนมาใช้ Program Microsoft PowerPoint และตั้งชื่อว่า หนังสือส่งเสริมการอ่านลอยฟ้า เรื่องต้นข้าวชาวนาไทย ที่มีทั้งภาพประกอบเสียง และนักเรียนสามารถเลือกใช้ได้อย่างง่ายๆ โดยแบ่งเป็น จำนวน 72 หน้า รวมปก มีบทดอกสร้อยจำนวน  10  บท และคำศัพท์พร้อมความหมายอีก 55 คำ โดยเลือกคำศัพท์จากบทดอกสร้อย ซึ่งเป็นคำพื้นฐานที่เด็กต้องเรียนรู้ในระดับชั้น โดยเนื้อหาของบทดอกสร้อยจะกล่าวถึงความเป็นของต้นข้าวและชาวนาไทยสอดแทรกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและคุณธรรมพื้นฐานสี่ประการที่เป็นคำสอนขององค์ในหลวง เมื่อเด็กๆได้เรียนรู้จากสื่อนี้แล้วจึงทำใบงานเป็นแบบฝึกประกอบการเรียนรู้ที่คู่กันอีกครั้ง และเมื่อได้ทดลองใช้กับนักเรียนปรากฏว่าสื่อหนังสือส่งเสริมการอ่านลอยฟ้าของครูลินลดา เป็นที่ชื่นชมของนักเรียนและผู้ปกครอง สามารถสนองตอบการเรียนรู้โดยใช้สื่อ ICT. ประกอบการจัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี
คำถามที่   3  ทำไมท่านจึงได้เข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้
ในครั้งแรกที่ได้รับหนังสือราชการเรื่อง เชิญชวนให้ครูส่งผลงานนวัตกรรมเข้าร่วมแข่งขันจึงสนใจเพราะเมื่อหลายปีก่อน มีคุณครูที่โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่เคยได้รับรางวัลนี้และได้ไปแข่งขันที่ประเทศเกาหลีมาแล้ว สำหรับ โครงการหรือนวัตกรรมหนังสือส่งเสริมการอ่านลอยฟ้านี้ได้สร้างมา 5 ปี และมีการพัฒนาปรับปรุงมาตลอดตามลำดับ จึงเริ่มติดตามข่าวคราวของการส่งผลงานตามลำดับขั้นตอนโดยใช้วิธีส่งทาง E-mail นั่นคือประสบการณ์แรกที่ได้ส่งเอกสารทางเมล์และได้รับการคัดเลือกให้ร่วมแข่งขันในระดับ  ภูมิภาคเมื่อวันที่ 14-15 มีนาคม พ.ศ.2552 ที่โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย และได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในตัวแทนของภาคเหนือ คู่กับครูปาริชาติ  เภสัชชา โรงเรียนอุทัยวิทยาคม จนกระทั่งได้เดินทางไปร่วมแข่งขันในงาน “The 5th Microsoft Regional Innovative Teachers Forum 2009”    กรุงกัวลาลัมเปอร์  ประเทศมาเลเซีย และได้รับรางวัล Winner Educators, choice หรือ Overall Winner for Category Educators, choice ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจมาก ที่สำคัญก็คือ ได้นำเสนอวิถีชีวิตความเป็นไทยความรักเอื้ออาทรที่ในหลวงมีต่อคนไทย รวมทั้งปรัชญาชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงได้เผยแพร่สู่สากล สำหรับประสบการณ์ที่ได้รับมีมากมายสิ่งแรกคือ การที่ได้ส่งเอกสารทาง E-mail ประสบการณ์จากการนำเสนองานเป็นภาษาอังกฤษ ที่สำคัญคือ ได้เพื่อนครูที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขอยู่ด้วยกันในต่างประเทศ ได้มิตรจากการทำงานร่วมกับบริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้รับรู้ว่ามีเพื่อนร่วมอุดมการณ์เหมือนกันทั่วประเทศ ซึ่งจะจดจำประสบการณ์นี้ตลอดไป ขอขอบคุณ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานและบริษัท ไมโครซอฟท์ ที่มองเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาและเปิดโอกาสให้คณะครูได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

คำถามที่  4   ท่านได้เผยแพร่ผลงานให้กับครูในโรงเรียนของท่านหรือโรงเรียนอื่นหรือไม่  ถ้าดำเนินการทำอย่างไร
การสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้ในห้องเรียนจากครูสอนเป็นกลุ่มใหญ่ทั้งห้องเรียนพร้อมกัน ฝึกอ่านฝึกร้องทำนองเสนาะจากบทดอกสร้อยต้นข้าวชาวนาไทยพร้อมกันทีละหน้า ต่อจากนั้นสอนวิธีการเปิด วิธีการอ่านแต่ละหน้า แล้วให้นักเรียนแบ่งกลุ่มลงเครื่องคอมพิวเตอร์ในห้องเรียนที่มีจำนวน 5 เครื่อง เมื่อเด็กๆสามารถทำได้แล้วจึงแจกแผ่น CD. ให้ไปเรียนรู้ต่อที่บ้าน และสามารถเล่นได้ในเวลาว่าง การเผยแพร่ผลงานในช่วงแรก ได้เผยแพร่โดยใช้หลักสูตรร่วมกับให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/7 เมื่อประเมินหลักสูตรแล้วจึงปรับปรุงหลักสูตรและขยายต่อให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ป.2/3 ป.2/6  รวมเป็น 4 ห้องเรียนในสายชั้น และปี 2551 ได้สร้างนวัตกรรมคือหนังสือส่งเสริมการอ่านลอยฟ้าที่จะขยายใช้ในปีการศึกษาหน้าในสายชั้น ป.2 จำนวน  8  ห้องเรียน และเผยแพร่ผ่านเว็บไซด์ของ ศน.อ้วน http://gotoknow.org/blog/pasathaiauon/264127  เมื่อกลับมาจากต่างประเทศได้ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนที่มีความต้องการมาขอแผ่น CDที่ครูได้เพื่อให้นำไปเรียนรู้ด้วยตนเองต่อไป

                คำถามที่  5  ผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ตัวท่านเอง  และเพื่อนครู
ผลก่อนและหลังการนำสื่อไปใช้ คือ หนังสือส่งเสริมการอ่านลอยฟ้าของครูลินลดา
ปีการศึกษา 2547 เริ่มใช้หลักสูตรการเรียนรู้นอกสถานที่ ต้นข้าวชาวนาไทย จากการประเมินหลักสูตร ปรากฏว่า นักเรียนมีความพึงพอใจการจัดการเรียนรู้ที่มีการไปศึกษานอกสถานที่ที่บ้านควายไทยแต่อยากให้มีสื่อ ICT.ประกอบมากกว่านี้ จึงสร้างสื่อหนังสือส่งเสริมการอ่าน เรื่อง ต้นข้าวชาวนาไทยขึ้นในปีมหามงคล 2550 และพัฒนาสื่อให้มีเสียงประกอบการอ่านจาก CD.โดยพัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ต้นข้าวชาวนาไทย โดยใช้การบูรณาการองค์รวมด้วยวิธีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) ผลการใช้สื่อคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/7 ปีการศึกษา 2550 ทำการประเมินทักษะการอ่านเขียน ได้ผลสรุปรวมคือ นักเรียนจำนวน  28  คน มีผลการอ่านคิดวิเคราะห์ระดับ
ดีมาก  11  คน  ระดับดี  15  คน  ระดับพอใช้  1  คน  ระดับปรับปรุง  1 คน บทที่ผู้เรียนเลือกชอบมากที่สุดคือ  บทที่ 7 (หน้า 7 )  จำนวน   8  คน ชอบรองลงมาคือ    บทที่ 8 (หน้า 8)    จำนวน   6  คน   ชอบลำดับที่ 3 คือ  บทที่ 9 (หน้า 8)    จำนวน   5  คน  ชอบลำดับที่ 4 คือ  บทที่ 2,6 (หน้า 2,6)   จำนวน   3+3  คน  ชอบลำดับที่ 3 คือ  บทที่ 4 (หน้า 8) จำนวน  2 คนผลการสอบถามรายการความพึงพอใจที่มีต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้หน่วยต้นข้าวชาวนาไทย โดยใช้สถิติค่าเฉลี่ย ( x ) พบว่าในภาพรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมากมีค่าเฉลี่ย 4.71และจากการสรุปแบบปลายเปิดพบว่านักเรียนมีความชื่นชอบและอยากให้น้องๆ ได้เรียนในลักษณะเดียวกันรวมทั้งอยากให้มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะนี้ต่อไปในทุกระดับชั้น ครูจึงพัฒนาสื่อเป็น หนังสือ e-book และเปลี่ยนมาเป็น Program Microsoft PowerPoint และตั้งชื่อว่า หนังสือส่งเสริมการอ่านลอยฟ้า เรื่องต้นข้าวชาวนาไทย ที่มีทั้งภาพประกอบเสียง และนักเรียนสามารถเลือกใช้ได้อย่างง่ายๆ โดยนักเรียนจะต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็น ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารและพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งปรากฏว่านักเรียนสนุกกับการเรียนรู้และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์นำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตได้ ซึ่งในปีการศึกษาหน้า จะได้มีการนำหนังสือลอยฟ้านี้เผยแพร่และเรียนรู้จากInternet ต่อไป
                สำหรับผลที่เกิดแก่ตนเองคือ เพื่อนและประสบการณ์มากมายที่ได้รับ รางวัลที่ทรงคุณค่า ความภาคภูมิใจในตนเอง และที่สำคัญคือ การที่นักการศึกษาได้มองเห็นสิ่งที่เราสื่อ สิ่งที่เราจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กจนประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้ง การสรุปความรู้ที่ได้ร่วมกันระหว่างครูกับเด็กและผู้ปกครอง ในเรื่อง การทำนา ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ การดูแลต้นข้าว และการเขียนลำดับขั้นตอนการปลูกข้าวตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยใช้กลอนสี่ง่ายๆ ในหัวข้อ กว่าจะเป็นเมล็ดข้าว เรื่องราวเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ที่จะคงอยู่ในใจของครูคนนี้ตราบสิ้นลมหายใจ

                คำถามที่  6  ถ้าท่านจะให้ข้อคิดหรือแนวทางแก่เพื่อนครูท่านอื่นๆ  ในการคิดค้นนวัตกรรม  ท่านคิดว่าเขาควรเริ่มต้นอย่างไร  และควรใช้เทคนิคใดประกอบ  จึงทำให้ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับท่าน
                สิ่งแรกที่เพื่อนครูควรให้คือ ให้โอกาสแก่ตนเองในการเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องยาก อย่าไปมองว่า การใช้สื่อ ICT เหมาะสำหรับคนที่เป็นครูคอมพิวเตอร์เท่านั้น ต้องเปิดโอกาสให้ตนเองได้สัมผัสและใช้สื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด สำหรับตนเองก็ไม่ใช่ครูคอมพิวเตอร์แต่ประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนรู้ เริ่มต้นจากสิ่งที่ง่ายไปหาสิ่งที่ยาก อันไหนไม่ได้ก็สอบถามคนที่เขาทำได้ ซึ่งเราสามารถเลือกสิ่งที่ใช่และเหมาะสมสำหรับตนเองได้ เราก็จะประสบความสำเร็จเท่าเทียมกัน ขอเพียงแค่เรามีใจที่จะให้การศึกษาแก่เด็กเหมือนกันเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว