วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โครงการตามรอยพ่อขอเป็นนักอ่าน

โครงการตามรอยพ่อขอเป็นนักอ่าน โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่
ปัญหาหนึ่งที่ทุกคนมีความห่วงใยอยู่ในขณะนี้ คือ ปัญหาเด็กไทยไม่รักการอ่าน บางคนอาจคิดว่าเป็นปัญหาเล็กๆ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เล็กอย่างที่คิด เพราะการอ่านเป็นหัวใจหลัก ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และมีความสำคัญยิ่งต่อการนำพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จ การอ่านเป็นทักษะสำคัญที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระ หากเด็กรักการอ่านสามารถอ่านได้อย่างแตกฉาน ก็จะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ในชั้นเรียนและสร้างนิสัยถาวรให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพราะความสามารถในการอ่านจะมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในการเรียนรู้ของผู้เรียนและนำไปสู่การขยายความรู้ตลอดชีวิต แต่ปัญหาการอ่านของเด็กไทยยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่อ่านภาษาไทยไม่คล่อง สะกดคำไม่ได้และอ่านออกเสียงไม่ถูกต้อง จากข้อมูลระดับชาติ OECD หรือองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ในโครงการประเมินนักเรียนนานาชาติ PISA (Programme for International Student Assessment) ปี ๒๐๐๓ ผลการประเมินนักเรียน ๔๐ ประเทศพบว่า ด้านการอ่านของประเทศไทยอยู่ในช่วงอันดับที่ ๓๕-๓๖ ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อยู่ในช่วงอันดับที่   ๓๔-๓๖ ถือได้ว่าค่อนข้างต่ำ ทุกภาคส่วนในสังคมที่เกี่ยวข้องกับเด็กนักเรียน ต้องให้ความสำคัญ ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ รวมพลังสมองช่วยกันคิดค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งการสร้างนิสัยรักการอ่านนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ เพราะการสร้างนิสัยไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้สำเร็จภายในระยะเวลาสั้นๆ และความแตกต่างของแต่ละคนก็ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อระดับความสำเร็จด้วย และสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันนี้ เด็กไทยยังไม่ได้รับ          การส่งเสริมให้อ่านอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ถูกฝึกให้อ่านอย่างถูกต้องตามวิธีไม่ได้รับการกระตุ้นให้สนใจ  ในการอ่าน ดังนั้น ทางครอบครัว พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ต้องส่งเสริมให้ลูกหลานได้อ่านหนังสือตลอดเวลา จัดบรรยากาศในบ้านให้น่าอ่านจัดหาหนังสือที่เหมาะสมกับวัยของลูกหลาน ในส่วนของโรงเรียนต้องมีแผนและเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อฝึกการอ่านของเด็กจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้เด็กอย่างต่อเนื่องทั้งในลักษณะของการบังคับและการให้อ่านตามความสนใจ จัดบรรยากาศของห้องสมุดให้น่าศึกษาเรียนรู้ ที่สำคัญ ครูต้องเป็นนักอ่านและสอนด้วยการให้นักเรียนได้อ่านเพื่อการค้นคว้าและอ่านอย่างมีความสุขด้วยตนเอง
ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ เป็นปีมหามงคลเฉลิมฉลองครบรอบ ๘๔ พรรษามหาราชาคณะรัฐมนตรีได้ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า    “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน”ครูผู้เป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้อย่างลุ่มลึกและทรงพระปรีชาสามารถในทุกด้าน ทรงเป็นสุดยอดของนักอ่านที่เป็นอัจฉริยะอย่างแท้จริง
โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ได้ปลูกฝังจิตสำนึกรักการอ่านอย่างต่อเนื่องทุกปี ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมการอ่านเพื่อให้เด็กได้บรรลุถึงการรู้เรื่องการอ่าน (Reading literacy) โดยมีความหมายมากกว่าการอ่านหนังสือและเข้าใจความหมายของคำ แต่ยังรวมไปถึง ความสามารถติดตามความหมาย การคิดย้อนกลับและสะท้อนว่าเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการเขียน เข้าใจว่าเขียนสำหรับให้ใครอ่าน (หรือผู้เขียนต้องการส่งข่าวสารให้ใคร) ให้รู้ว่าผู้เขียนใช้ภาษาอย่างไรในการนำข่าวสารไปสู่ผู้อ่าน และอิทธิพลที่มีต่อผู้อ่าน และรวมถึงความสามารถในการตีความจากโครงสร้างของเรื่องหรือจากลักษณะเด่นของการเขียน (เช่น การให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมา เปรียบเทียบ ชมเชย หรือประชดประชัน ฯลฯ) การรู้เรื่องด้านการอ่านนี้ แสดงว่ามีความรู้และศักยภาพที่จะมีส่วนในการสร้างสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
ในปีที่ผ่านมาเราได้จัดทำกิจกรรมยอดนักอ่าน หนูน้อยนักอ่าน ส่งเสริมการอ่านทุกกลุ่มสาระรวมทั้งการจัดประกวดนักอ่านทั้งภายในและร่วมมือกับองค์กรภายนอก เราได้ออกแบบบันทึกสมุดหนูน้อยนักอ่านมีการพัฒนาทุกปี และร่วมมือกับโครงการนานมีบุ๊คส์รีดดิ้งคลับเยาวชนไทยร่วมใจอ่าน ๕๕ ล้านเล่ม กิจกรรมส่งเสริมการอ่านบูรณาการในกลุ่มสาระภาษาไทยมีกิจกรรมเด่นๆ เช่น คลังคำนำความคิด ตอบปัญหาจากสารานุกรม รักในการทำความดี ค้นหานักวิทยาศาสตร์น้อย และการเขียนหนังสือเล่มเล็ก ในปีนี้จึงได้คิดโครงการตามรอยพ่อขอเป็นนักอ่านประกอบด้วยกิจกรรมที่สำคัญหลายกิจกรรม ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนโครงการจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ภายใต้ชื่อโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ระดับประถมศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๕๔ โดยต่อยอดจากการดำเนินกิจกรรมจากปีที่ผ่านมาก คือ ค่ายรักการอ่าน เด็กอ่านให้ผู้ใหญ่ฟัง พี่อ่านให้น้องฟัง การสกัดความรู้จากโลกออนไลน์ เล่านิทานหรรษา อ่านอย่างเซียน เขียนอย่างเทพ ดูหนังชั่งความรู้ หนังสือของพระเทพฯ สนุกคิดคณิตศาสตร์ อ่านวรรณคดีตามพระราชเสาวนีย์สมเด็จแม่ฯ และอีกหลากหลายกิจกรรม เพื่อส่งเสริมสมรรถนะด้านการอ่าน ต่อยอดจากหลายปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้เราได้ออกแบบสมุดบันทึกหนูน้อยนักอ่านเพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้เรียนบันทึกสาระในการอ่านและการร่วมกิจกรรมรวมทั้งการประเมินให้มีความทันสมัยและสามารถตอบโจทย์เพื่อให้นักเรียนรักการอ่าน ถ้าดำเนินการตามกิจกรรมในโครงการตามรอยพ่อขอเป็นนักอ่าน จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่การศึกษา    การพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนมีการประเมินที่มองไปถึงชีวิตในอนาคต ไม่ใช่การประเมินตามเนื้อหาในหลักสูตรที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบัน และเป็นการประเมินต่อเนื่อง ตาม จุดเน้นของ PISA คือการประเมิน การรู้เรื่อง (Literacy) โดยยึดหลักการสำคัญ คือ ต้นแบบของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเน้นที่ ความรู้และทักษะใหม่ที่จำเป็น เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงซึ่งนักเรียนไม่สามารถเรียนรู้ทุกอย่างจากโรงเรียน แต่เพื่อให้เป็นผู้เรียนที่สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง การศึกษาจึงต้องให้ฐานรากที่มั่นคงและสืบค้นได้จากการอ่าน
โครงการตามรอยพ่อขอเป็นนักอ่านจะทำให้นักเรียนบรรลุทักษะด้านการอ่านอย่างเห็นได้เป็นรูปธรรม เพราะการปลูกฝังทักษะในแต่ละระดับชั้นนั้นจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ทั้งห้าทักษะคือ ทักษะการอ่านออก (Decoding Skills) ทักษะการอ่านได้ (Word Processing Skills) ทักษะการอ่านเป็น (Comprehension Reading Skills) ทักษะการอ่านเก่ง (Critical Reading Skills)และทักษะการแสวงหาความรู้ (Study Skills) ที่สำคัญจะเป็นการนำไปสู่การเกิดนิสัยรักการอ่าน ตรงตามมาตรฐานผู้เรียนมาตรฐานที่ ๖ ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองรักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนครูและผู้ปกครองร่วมกิจกรรมรักการอ่านสนใจแสวงหาความรู้จากแหล่งต่างๆรอบตัว  ให้นักเรียนได้บันทึกการอ่านลงในสมุดบันทึกหนูน้อยนักอ่านรายบุคคล  นักเรียนใฝ่รู้ ใฝ่เรียน สนุกกับการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และให้นักเรียนสามารถใช้ห้องสมุด ใช้แหล่งเรียนรู้ และสื่อต่างๆทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง
การดำเนินกิจกรรมในโครงการตามรอยพ่อขอเป็นนักอ่านจะบูรณาการกับการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดปี สิ่งสำคัญที่สุดที่จะผลักดันให้โครงการตามรอยพ่อขอเป็นนักอ่านประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ อยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจจากบุคลากรในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน และผู้ปกครองเพราะผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินกิจกรรมตามโครงการคือ   การสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนรู้รักการอ่านและเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันเป็นสิ่งที่เรา    ทุกคนมุ่งหวังอยากจะให้เกิดขึ้นเพื่อการพัฒนาเด็กไทยให้เป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์


โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ สร้างสรรค์เด็กไทยรักการอ่าน


วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

คำถามสำคัญของหนังสือส่งเสริมการอ่านลอยฟ้า เรื่อง ต้นข้าวชาวนาไทย ในการส่งสื่อนวัตกรรมเข้าร่วมประกวด

คำถามที่  1  จุดเริ่มต้นหรือแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมนี้
เมื่อเริ่มแรกที่คิดโครงการนี้ในปีการศึกษา 2547 เพราะเกิดปัญหาคือ เด็กไม่ค่อยทานข้าวไม่รู้คุณค่าของข้าวและควายไทยและอยากให้เขาได้สัมผัสกับบรรยากาศแบบไทยในการทำนา จึงจัดทำหลักสูตรการศึกษาเรียนรู้นอกสถานที่ (Field Trip) โดยพาไปศึกษาที่บ้านควายไทย  อ.แม่ริม   จ.เชียงใหม่ เมื่อเรียนรู้ตามขั้นตอนแล้วผลปรากฏว่าเด็กได้อะไรมากกว่าการเรียนแบบปกติ  จึงเริ่มพัฒนาสื่อการเรียนรู้ทุกปี จนกระทั่งถึงปีการศึกษา 2550  ได้เริ่มสร้างหนังสือส่งเสริมการอ่าน เรื่องต้นข้าวชาวนาไทย เพื่อสนองนโยบายของชาติและเฉลิมฉลองปีมหามงคลขององค์ในหลวง ได้จัดทำโครงการร่วมด้วยช่วยกัน สานฝันเพื่อลูก ร่วมกับผู้ปกครองในการทำนาในสวนเกษตรของโรงเรียน  ผลสำเร็จเกินความคาดหมายเมื่อเขาได้ในสิ่งที่เราต้องการให้    ไม่ว่าเรื่องความตระหนักในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ความสำนึกในคุณค่าของข้าวและควายไทย   และความรักที่ถวายแด่องค์ในหลวง  จากการประเมินการจัดการเรียนรู้เมื่อเด็กๆได้เรียนรู้จากโครงการตามหลักสูตรดังกล่าวแล้ว เด็กๆบอกว่าอยากนำหนังสือกลับไปอ่านที่บ้านด้วยจะได้ฝึกท่องบทดอกสร้อยแต่ค่าหนังสือที่พิมพ์สี่สีต่อเล่มจะมีราคาสูง ในปีการศึกษา 2551 จึงคิดริเริ่มจัดทำเป็นหนังสือส่งเสริมการอ่านลอยฟ้า เรื่อง ต้นข้าวชาวนาไทย ที่ใช้ ICT มาเป็นสื่อนำ โดยนักเรียนจะต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็น ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารและพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งปรากฏว่านักเรียนสนุกกับการเรียนรู้และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์นำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตได้ สมกับเจตนารมณ์ที่ครูตั้งไว้ เพราะหนังสือลอยฟ้า คือ ฟ้าที่หมายถึงองค์ในหลวง และฟ้าที่เราทุกคนอยู่ใต้ฟ้าเดียวกันสามารถอ่านหนังสือลอยฟ้าเล่มนี้ได้เหมือนกันเพราะเรามี คอมพิวเตอร์และสามารถใช้ Internet เพื่อการเรียนรู้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

                คำถามที่  2  ในความคิดของท่านคิดว่าลักษณะเด่นและจุดเด่นของนวัตกรรมที่ทำคืออะไร
การที่นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง และการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองคือลักษณะเด่นของผลงานนี้เพราะหลังจากประสบความสำเร็จจากการใช้สื่อหนังสือส่งเสริมการอ่าน เรื่องต้นข้าวชาวนาไทย ที่มีหนังสือ และเสียงของครูที่อ่านเป็นทำนองเสนาะประกอบหนังสือเป็นเสียง CD.ที่ฟังจากคอมพิวเตอร์ประกอบการอ่าน ในปีการศึกษา 2550 ที่เด็กๆ ก็สามารถบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกับผู้ปกครองสร้างทุ่งนาจำลองในสวนเกษตรของโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ ถึงแม้จะไม่ได้ผลผลิตคือเมล็ดข้าวมากมายนักเพราะว่ามีฝูงนกมาจิกกิน แต่เด็กๆ ก็ได้ทดลองตามขั้นตอนการปลูกข้าวทำนาทั้งนาหว่านและนาดำ  ที่เริ่มตั้งแต่ ไถนา เตรียมดิน หว่านข้าวดูแลและกำจัดวัชพืช และเกี่ยวข้าว ครูจึงคิดพัฒนาสื่อเพราะว่าต้นทุนของหนังสือที่เป็นภาพสี่สีมีราคาแพง และอยากสร้างสื่อที่มีทั้งภาพและเสียงประกอบกัน จึงสแกนภาพจากหนังสือเพื่อทำเป็นหนังสือ e-book แต่เมื่อทดลองใช้แล้วกลับไม่ดีเท่าที่ควร จึงปรับเปลี่ยนมาใช้ Program Microsoft PowerPoint และตั้งชื่อว่า หนังสือส่งเสริมการอ่านลอยฟ้า เรื่องต้นข้าวชาวนาไทย ที่มีทั้งภาพประกอบเสียง และนักเรียนสามารถเลือกใช้ได้อย่างง่ายๆ โดยแบ่งเป็น จำนวน 72 หน้า รวมปก มีบทดอกสร้อยจำนวน  10  บท และคำศัพท์พร้อมความหมายอีก 55 คำ โดยเลือกคำศัพท์จากบทดอกสร้อย ซึ่งเป็นคำพื้นฐานที่เด็กต้องเรียนรู้ในระดับชั้น โดยเนื้อหาของบทดอกสร้อยจะกล่าวถึงความเป็นของต้นข้าวและชาวนาไทยสอดแทรกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและคุณธรรมพื้นฐานสี่ประการที่เป็นคำสอนขององค์ในหลวง เมื่อเด็กๆได้เรียนรู้จากสื่อนี้แล้วจึงทำใบงานเป็นแบบฝึกประกอบการเรียนรู้ที่คู่กันอีกครั้ง และเมื่อได้ทดลองใช้กับนักเรียนปรากฏว่าสื่อหนังสือส่งเสริมการอ่านลอยฟ้าของครูลินลดา เป็นที่ชื่นชมของนักเรียนและผู้ปกครอง สามารถสนองตอบการเรียนรู้โดยใช้สื่อ ICT. ประกอบการจัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี
คำถามที่   3  ทำไมท่านจึงได้เข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้
ในครั้งแรกที่ได้รับหนังสือราชการเรื่อง เชิญชวนให้ครูส่งผลงานนวัตกรรมเข้าร่วมแข่งขันจึงสนใจเพราะเมื่อหลายปีก่อน มีคุณครูที่โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่เคยได้รับรางวัลนี้และได้ไปแข่งขันที่ประเทศเกาหลีมาแล้ว สำหรับ โครงการหรือนวัตกรรมหนังสือส่งเสริมการอ่านลอยฟ้านี้ได้สร้างมา 5 ปี และมีการพัฒนาปรับปรุงมาตลอดตามลำดับ จึงเริ่มติดตามข่าวคราวของการส่งผลงานตามลำดับขั้นตอนโดยใช้วิธีส่งทาง E-mail นั่นคือประสบการณ์แรกที่ได้ส่งเอกสารทางเมล์และได้รับการคัดเลือกให้ร่วมแข่งขันในระดับ  ภูมิภาคเมื่อวันที่ 14-15 มีนาคม พ.ศ.2552 ที่โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย และได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในตัวแทนของภาคเหนือ คู่กับครูปาริชาติ  เภสัชชา โรงเรียนอุทัยวิทยาคม จนกระทั่งได้เดินทางไปร่วมแข่งขันในงาน “The 5th Microsoft Regional Innovative Teachers Forum 2009”    กรุงกัวลาลัมเปอร์  ประเทศมาเลเซีย และได้รับรางวัล Winner Educators, choice หรือ Overall Winner for Category Educators, choice ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจมาก ที่สำคัญก็คือ ได้นำเสนอวิถีชีวิตความเป็นไทยความรักเอื้ออาทรที่ในหลวงมีต่อคนไทย รวมทั้งปรัชญาชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงได้เผยแพร่สู่สากล สำหรับประสบการณ์ที่ได้รับมีมากมายสิ่งแรกคือ การที่ได้ส่งเอกสารทาง E-mail ประสบการณ์จากการนำเสนองานเป็นภาษาอังกฤษ ที่สำคัญคือ ได้เพื่อนครูที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขอยู่ด้วยกันในต่างประเทศ ได้มิตรจากการทำงานร่วมกับบริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้รับรู้ว่ามีเพื่อนร่วมอุดมการณ์เหมือนกันทั่วประเทศ ซึ่งจะจดจำประสบการณ์นี้ตลอดไป ขอขอบคุณ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานและบริษัท ไมโครซอฟท์ ที่มองเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาและเปิดโอกาสให้คณะครูได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

คำถามที่  4   ท่านได้เผยแพร่ผลงานให้กับครูในโรงเรียนของท่านหรือโรงเรียนอื่นหรือไม่  ถ้าดำเนินการทำอย่างไร
การสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้ในห้องเรียนจากครูสอนเป็นกลุ่มใหญ่ทั้งห้องเรียนพร้อมกัน ฝึกอ่านฝึกร้องทำนองเสนาะจากบทดอกสร้อยต้นข้าวชาวนาไทยพร้อมกันทีละหน้า ต่อจากนั้นสอนวิธีการเปิด วิธีการอ่านแต่ละหน้า แล้วให้นักเรียนแบ่งกลุ่มลงเครื่องคอมพิวเตอร์ในห้องเรียนที่มีจำนวน 5 เครื่อง เมื่อเด็กๆสามารถทำได้แล้วจึงแจกแผ่น CD. ให้ไปเรียนรู้ต่อที่บ้าน และสามารถเล่นได้ในเวลาว่าง การเผยแพร่ผลงานในช่วงแรก ได้เผยแพร่โดยใช้หลักสูตรร่วมกับให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/7 เมื่อประเมินหลักสูตรแล้วจึงปรับปรุงหลักสูตรและขยายต่อให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ป.2/3 ป.2/6  รวมเป็น 4 ห้องเรียนในสายชั้น และปี 2551 ได้สร้างนวัตกรรมคือหนังสือส่งเสริมการอ่านลอยฟ้าที่จะขยายใช้ในปีการศึกษาหน้าในสายชั้น ป.2 จำนวน  8  ห้องเรียน และเผยแพร่ผ่านเว็บไซด์ของ ศน.อ้วน http://gotoknow.org/blog/pasathaiauon/264127  เมื่อกลับมาจากต่างประเทศได้ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนที่มีความต้องการมาขอแผ่น CDที่ครูได้เพื่อให้นำไปเรียนรู้ด้วยตนเองต่อไป

                คำถามที่  5  ผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ตัวท่านเอง  และเพื่อนครู
ผลก่อนและหลังการนำสื่อไปใช้ คือ หนังสือส่งเสริมการอ่านลอยฟ้าของครูลินลดา
ปีการศึกษา 2547 เริ่มใช้หลักสูตรการเรียนรู้นอกสถานที่ ต้นข้าวชาวนาไทย จากการประเมินหลักสูตร ปรากฏว่า นักเรียนมีความพึงพอใจการจัดการเรียนรู้ที่มีการไปศึกษานอกสถานที่ที่บ้านควายไทยแต่อยากให้มีสื่อ ICT.ประกอบมากกว่านี้ จึงสร้างสื่อหนังสือส่งเสริมการอ่าน เรื่อง ต้นข้าวชาวนาไทยขึ้นในปีมหามงคล 2550 และพัฒนาสื่อให้มีเสียงประกอบการอ่านจาก CD.โดยพัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ต้นข้าวชาวนาไทย โดยใช้การบูรณาการองค์รวมด้วยวิธีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) ผลการใช้สื่อคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/7 ปีการศึกษา 2550 ทำการประเมินทักษะการอ่านเขียน ได้ผลสรุปรวมคือ นักเรียนจำนวน  28  คน มีผลการอ่านคิดวิเคราะห์ระดับ
ดีมาก  11  คน  ระดับดี  15  คน  ระดับพอใช้  1  คน  ระดับปรับปรุง  1 คน บทที่ผู้เรียนเลือกชอบมากที่สุดคือ  บทที่ 7 (หน้า 7 )  จำนวน   8  คน ชอบรองลงมาคือ    บทที่ 8 (หน้า 8)    จำนวน   6  คน   ชอบลำดับที่ 3 คือ  บทที่ 9 (หน้า 8)    จำนวน   5  คน  ชอบลำดับที่ 4 คือ  บทที่ 2,6 (หน้า 2,6)   จำนวน   3+3  คน  ชอบลำดับที่ 3 คือ  บทที่ 4 (หน้า 8) จำนวน  2 คนผลการสอบถามรายการความพึงพอใจที่มีต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้หน่วยต้นข้าวชาวนาไทย โดยใช้สถิติค่าเฉลี่ย ( x ) พบว่าในภาพรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมากมีค่าเฉลี่ย 4.71และจากการสรุปแบบปลายเปิดพบว่านักเรียนมีความชื่นชอบและอยากให้น้องๆ ได้เรียนในลักษณะเดียวกันรวมทั้งอยากให้มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะนี้ต่อไปในทุกระดับชั้น ครูจึงพัฒนาสื่อเป็น หนังสือ e-book และเปลี่ยนมาเป็น Program Microsoft PowerPoint และตั้งชื่อว่า หนังสือส่งเสริมการอ่านลอยฟ้า เรื่องต้นข้าวชาวนาไทย ที่มีทั้งภาพประกอบเสียง และนักเรียนสามารถเลือกใช้ได้อย่างง่ายๆ โดยนักเรียนจะต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็น ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารและพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งปรากฏว่านักเรียนสนุกกับการเรียนรู้และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์นำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตได้ ซึ่งในปีการศึกษาหน้า จะได้มีการนำหนังสือลอยฟ้านี้เผยแพร่และเรียนรู้จากInternet ต่อไป
                สำหรับผลที่เกิดแก่ตนเองคือ เพื่อนและประสบการณ์มากมายที่ได้รับ รางวัลที่ทรงคุณค่า ความภาคภูมิใจในตนเอง และที่สำคัญคือ การที่นักการศึกษาได้มองเห็นสิ่งที่เราสื่อ สิ่งที่เราจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กจนประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้ง การสรุปความรู้ที่ได้ร่วมกันระหว่างครูกับเด็กและผู้ปกครอง ในเรื่อง การทำนา ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ การดูแลต้นข้าว และการเขียนลำดับขั้นตอนการปลูกข้าวตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยใช้กลอนสี่ง่ายๆ ในหัวข้อ กว่าจะเป็นเมล็ดข้าว เรื่องราวเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ที่จะคงอยู่ในใจของครูคนนี้ตราบสิ้นลมหายใจ

                คำถามที่  6  ถ้าท่านจะให้ข้อคิดหรือแนวทางแก่เพื่อนครูท่านอื่นๆ  ในการคิดค้นนวัตกรรม  ท่านคิดว่าเขาควรเริ่มต้นอย่างไร  และควรใช้เทคนิคใดประกอบ  จึงทำให้ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับท่าน
                สิ่งแรกที่เพื่อนครูควรให้คือ ให้โอกาสแก่ตนเองในการเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องยาก อย่าไปมองว่า การใช้สื่อ ICT เหมาะสำหรับคนที่เป็นครูคอมพิวเตอร์เท่านั้น ต้องเปิดโอกาสให้ตนเองได้สัมผัสและใช้สื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด สำหรับตนเองก็ไม่ใช่ครูคอมพิวเตอร์แต่ประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนรู้ เริ่มต้นจากสิ่งที่ง่ายไปหาสิ่งที่ยาก อันไหนไม่ได้ก็สอบถามคนที่เขาทำได้ ซึ่งเราสามารถเลือกสิ่งที่ใช่และเหมาะสมสำหรับตนเองได้ เราก็จะประสบความสำเร็จเท่าเทียมกัน ขอเพียงแค่เรามีใจที่จะให้การศึกษาแก่เด็กเหมือนกันเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเขียนเรื่องสู่การพัฒนาเป็นหนังสือเล่มเล็ก

เมื่อตอนที่ครูลินลดาเป็นเด็กๆ จะเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก อ่านได้ทุกเรื่อง อ่านได้ทุกอย่าง อ่านได้ทุกที่ โดยเฉพาะหนังสือนวนิยาย จำได้ว่าเริ่มอ่านนวนิยายเป็นตั้งแต่อยู่ชั้น ป.2 ครั้งแรกที่อ่านคือได้อ่านเรื่อง นิกกับพิม เป็นหนังสือที่เขียนเรื่องของหมาได้อย่างน่ารัก อ่านแล้วทำให้รักหมาอยากเลี้ยงหมา และทำให้อยากอ่านนิยายเล่มอื่นๆ มีวิวัฒนาการในการอ่านนิยายมากขึ้นเรื่อยๆ จากเล่มเล็กๆ กลายเป็นนิยายเล่มหนาๆ เมื่อนิยายในห้องสมุดถูกอ่านจนหมดก็ไปเช่าอ่านที่ร้านเช่าหนังสือ ปั่นจักรยานไป จนถูกหมาที่ตลาดกัด บางทีก็แอบอ่านตอนกลางคืน แม่บอกให้นอนก็นอนแอบอ่านในผ้าห่ม ติดนิยายมาก แล้วก็นิสัยเสียชอบอ่านหนังสือบนรถ บางทีไปเที่ยวกันในครอบครัวจะมีหนังสือติดมือหนึ่งเล่ม ใครจะไปไหนก็ไปแต่ฉันจะนั่งอ่านหนังสือในรถ ใครจะทำอะไรก็ทำไป แต่ฉันจะนั่งอ่านหนังสือ เป็นอย่างนี้จนโต บางทีก็แอบไปเช่าอ่านหนังสือ ที่บอกว่าแอบเพราะแม่เห็นว่าอ่ายนิยายมากๆจะไม่ดีต้องอ่านหนังสือเรียน ก็หนังสือเรียนอ่านในห้องเรียนแล้วนี่ อยากอ่านนิยายนี่นา น้องๆก็จะเป็นลูกคู่ในการแอบซ่อนหนังสือจากแม่ เป็นประจำ สิ่งที่เห็นได้อย่างเด่นชัดคือ เวลาที่ครูบอกให้เขียนเรียงความหรือเขียนเรื่อง แต่งเรื่อง แต่งคำประพันธ์ จะสามารถมากๆ เขียนได้ทุกอย่างที่ครูต้องการ เขียนได้เร็วด้วยแหละขอให้บอกเถอะ คงเป็นเพราะอ่านมากทำให้เขียนได้มาก เพราะฉะนั้น เวลาให้เด็กๆเขียนเรื่อง ใครที่จดๆจ้องๆเขียนไม่ออกสักที รู้ได้เลยว่า คนนั้นไม่ชอบอ่านแน่นอน เพราะการที่เราจะเขียนได้เราต้องอ่านเป็น ที่สำคัญเป็นการฝึกวิเคราะห์ได้อย่างดี จึงพยายามสอดแทรกให้เด็กๆมีกิจกรรมในการอ่านและเขียนให้มากๆ อ่านมาก คิดมาก เขียนได้มากมันเหมือนกับว่าเรามีต้นทุนที่กักเก็บไว้ในสมองเยอะ เวลาที่เราจะใช้เขียนเรื่องอะไร แนวไหน เราก็เบิกมาใช้ได้เลย พอได้ทำงานจากที่เคยเช่าหนังสือจนเจ้าของร้านบอกว่าไม่มีหนังสือใหม่แล้วก็เลยซื้ออ่านเองซะเลย เป็นคนที่ชอบสะสมหนังสือนวนิยายมากๆ มีนักเขียนในดวงใจหลายคน ก็ว่าจะลองแต่งเองบ้างแต่กลัวไม่มีคนอ่าน เป็นอีกหนึ่งความฝันที่อยากจะทำมาก ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะสมหวัง แต่ตอนนี้ฝึกให้เด็กๆเป็นนักเขียนก่อน เมื่อตอนที่จัดกิจกรรมให้เด็กๆได้แข่งกันเขียนหนังสือเล่มเล็กในห้องสมุดก็สนุกมาก ได้เห็นความสามารถในทักษะภาษาไทยของเด็กๆ เพราะการแต่งหนังสือเล่มเล็ก เป็นสุดยอดของภาษาไทยที่มองเห็นพัฒนาการของเด็กๆว่าเขามีความรู้และความคิดสร้างสรรค์มากน้อยแค่ไหน เราคัดกันตั้งแต่ในห้องเรียนเพื่อส่งเข้าแข่งขันในห้องสมุดโดยไม่จำกัดทีม จำได้ว่า แต่ละห้องให้ความร่วมมือดีมาก คุณครูช่วงชั้นที่สองคัดเลือกทีมเด็กๆส่งมาแข่งขันกันเกือบยี่สิบทีม กว่าจะได้ทีมที่ชนะก็คัดแล้วคัดอีก แล้วก็ไม่ผิดหวัง เพราะทีมที่ชนะเลิศคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/8 นำทีมโดยน้องเอมี่ วาวา และพิงกี้ ต่อจากนั้นเราก็ฝึกกันต่อเพื่อเข้าร่วมแข่งขันในระดับเขต ทีมของเราชนะได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันต่อ แต่เราก็รู้จุดอ่อนของเราที่จะต้องพัฒนาต่อก็คือ เรื่องของเทคนิคในการนำเสนอ ไม่ใช่ว่าเนื้อเรื่องดีแล้วจะชนะนะ มันจะต้องมีลูกเล่น เช่น เทคนิคการตกแต่งภาพ ทำเป็นภาพ 3 มิติ ภาพพลิกป๊อปอัพ การใช้สี ฯลฯ แต่ที่สำคัญคือเด็กๆได้ประสบการณ์ในการแข่งขันเต็มๆ ครูก็ได้นั่งลุ้นกันทั้งวัน ไม่เป็นไร ปีหน้ามาแข่งกันใหม่ จะฝึกปรือให้เด็กๆ ได้ใช้ทักษะภาษาไทยคล่อง วาดเขียนเก่ง เทคนิคดี แค่นี้ก็ฉลุยแล้ว พบกันในสนามแข่งปีหน้าแน่นอนขอบอก สำหรับปีนี้ ดูภาพบรรยากาศการแข่งขันก่อนนะ หรือจะดูผลงานของทีมที่ชนะก็ได้จ้ะ อ้อ..วันแข่งน่ะ ทีมของเราร่ำร้องจะกินไก่ KFC เป็นรางวัล ก็ไม่เป็นไรครูขวัญทุ่มทุนสร้าง แล้วปีหน้าจะกินอะไรกันล่ะเนี่ย ครูต้องเตรียมต้นทุนไว้เหมือนกันนะ อิ อิ