วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โครงการตามรอยพ่อขอเป็นนักอ่าน

โครงการตามรอยพ่อขอเป็นนักอ่าน โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่
ปัญหาหนึ่งที่ทุกคนมีความห่วงใยอยู่ในขณะนี้ คือ ปัญหาเด็กไทยไม่รักการอ่าน บางคนอาจคิดว่าเป็นปัญหาเล็กๆ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เล็กอย่างที่คิด เพราะการอ่านเป็นหัวใจหลัก ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และมีความสำคัญยิ่งต่อการนำพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จ การอ่านเป็นทักษะสำคัญที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระ หากเด็กรักการอ่านสามารถอ่านได้อย่างแตกฉาน ก็จะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ในชั้นเรียนและสร้างนิสัยถาวรให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพราะความสามารถในการอ่านจะมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในการเรียนรู้ของผู้เรียนและนำไปสู่การขยายความรู้ตลอดชีวิต แต่ปัญหาการอ่านของเด็กไทยยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่อ่านภาษาไทยไม่คล่อง สะกดคำไม่ได้และอ่านออกเสียงไม่ถูกต้อง จากข้อมูลระดับชาติ OECD หรือองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ในโครงการประเมินนักเรียนนานาชาติ PISA (Programme for International Student Assessment) ปี ๒๐๐๓ ผลการประเมินนักเรียน ๔๐ ประเทศพบว่า ด้านการอ่านของประเทศไทยอยู่ในช่วงอันดับที่ ๓๕-๓๖ ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อยู่ในช่วงอันดับที่   ๓๔-๓๖ ถือได้ว่าค่อนข้างต่ำ ทุกภาคส่วนในสังคมที่เกี่ยวข้องกับเด็กนักเรียน ต้องให้ความสำคัญ ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ รวมพลังสมองช่วยกันคิดค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งการสร้างนิสัยรักการอ่านนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ เพราะการสร้างนิสัยไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้สำเร็จภายในระยะเวลาสั้นๆ และความแตกต่างของแต่ละคนก็ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อระดับความสำเร็จด้วย และสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันนี้ เด็กไทยยังไม่ได้รับ          การส่งเสริมให้อ่านอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ถูกฝึกให้อ่านอย่างถูกต้องตามวิธีไม่ได้รับการกระตุ้นให้สนใจ  ในการอ่าน ดังนั้น ทางครอบครัว พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ต้องส่งเสริมให้ลูกหลานได้อ่านหนังสือตลอดเวลา จัดบรรยากาศในบ้านให้น่าอ่านจัดหาหนังสือที่เหมาะสมกับวัยของลูกหลาน ในส่วนของโรงเรียนต้องมีแผนและเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อฝึกการอ่านของเด็กจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้เด็กอย่างต่อเนื่องทั้งในลักษณะของการบังคับและการให้อ่านตามความสนใจ จัดบรรยากาศของห้องสมุดให้น่าศึกษาเรียนรู้ ที่สำคัญ ครูต้องเป็นนักอ่านและสอนด้วยการให้นักเรียนได้อ่านเพื่อการค้นคว้าและอ่านอย่างมีความสุขด้วยตนเอง
ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ เป็นปีมหามงคลเฉลิมฉลองครบรอบ ๘๔ พรรษามหาราชาคณะรัฐมนตรีได้ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า    “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน”ครูผู้เป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้อย่างลุ่มลึกและทรงพระปรีชาสามารถในทุกด้าน ทรงเป็นสุดยอดของนักอ่านที่เป็นอัจฉริยะอย่างแท้จริง
โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ได้ปลูกฝังจิตสำนึกรักการอ่านอย่างต่อเนื่องทุกปี ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมการอ่านเพื่อให้เด็กได้บรรลุถึงการรู้เรื่องการอ่าน (Reading literacy) โดยมีความหมายมากกว่าการอ่านหนังสือและเข้าใจความหมายของคำ แต่ยังรวมไปถึง ความสามารถติดตามความหมาย การคิดย้อนกลับและสะท้อนว่าเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการเขียน เข้าใจว่าเขียนสำหรับให้ใครอ่าน (หรือผู้เขียนต้องการส่งข่าวสารให้ใคร) ให้รู้ว่าผู้เขียนใช้ภาษาอย่างไรในการนำข่าวสารไปสู่ผู้อ่าน และอิทธิพลที่มีต่อผู้อ่าน และรวมถึงความสามารถในการตีความจากโครงสร้างของเรื่องหรือจากลักษณะเด่นของการเขียน (เช่น การให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมา เปรียบเทียบ ชมเชย หรือประชดประชัน ฯลฯ) การรู้เรื่องด้านการอ่านนี้ แสดงว่ามีความรู้และศักยภาพที่จะมีส่วนในการสร้างสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
ในปีที่ผ่านมาเราได้จัดทำกิจกรรมยอดนักอ่าน หนูน้อยนักอ่าน ส่งเสริมการอ่านทุกกลุ่มสาระรวมทั้งการจัดประกวดนักอ่านทั้งภายในและร่วมมือกับองค์กรภายนอก เราได้ออกแบบบันทึกสมุดหนูน้อยนักอ่านมีการพัฒนาทุกปี และร่วมมือกับโครงการนานมีบุ๊คส์รีดดิ้งคลับเยาวชนไทยร่วมใจอ่าน ๕๕ ล้านเล่ม กิจกรรมส่งเสริมการอ่านบูรณาการในกลุ่มสาระภาษาไทยมีกิจกรรมเด่นๆ เช่น คลังคำนำความคิด ตอบปัญหาจากสารานุกรม รักในการทำความดี ค้นหานักวิทยาศาสตร์น้อย และการเขียนหนังสือเล่มเล็ก ในปีนี้จึงได้คิดโครงการตามรอยพ่อขอเป็นนักอ่านประกอบด้วยกิจกรรมที่สำคัญหลายกิจกรรม ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนโครงการจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ภายใต้ชื่อโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ระดับประถมศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๕๔ โดยต่อยอดจากการดำเนินกิจกรรมจากปีที่ผ่านมาก คือ ค่ายรักการอ่าน เด็กอ่านให้ผู้ใหญ่ฟัง พี่อ่านให้น้องฟัง การสกัดความรู้จากโลกออนไลน์ เล่านิทานหรรษา อ่านอย่างเซียน เขียนอย่างเทพ ดูหนังชั่งความรู้ หนังสือของพระเทพฯ สนุกคิดคณิตศาสตร์ อ่านวรรณคดีตามพระราชเสาวนีย์สมเด็จแม่ฯ และอีกหลากหลายกิจกรรม เพื่อส่งเสริมสมรรถนะด้านการอ่าน ต่อยอดจากหลายปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้เราได้ออกแบบสมุดบันทึกหนูน้อยนักอ่านเพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้เรียนบันทึกสาระในการอ่านและการร่วมกิจกรรมรวมทั้งการประเมินให้มีความทันสมัยและสามารถตอบโจทย์เพื่อให้นักเรียนรักการอ่าน ถ้าดำเนินการตามกิจกรรมในโครงการตามรอยพ่อขอเป็นนักอ่าน จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่การศึกษา    การพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนมีการประเมินที่มองไปถึงชีวิตในอนาคต ไม่ใช่การประเมินตามเนื้อหาในหลักสูตรที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบัน และเป็นการประเมินต่อเนื่อง ตาม จุดเน้นของ PISA คือการประเมิน การรู้เรื่อง (Literacy) โดยยึดหลักการสำคัญ คือ ต้นแบบของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเน้นที่ ความรู้และทักษะใหม่ที่จำเป็น เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงซึ่งนักเรียนไม่สามารถเรียนรู้ทุกอย่างจากโรงเรียน แต่เพื่อให้เป็นผู้เรียนที่สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง การศึกษาจึงต้องให้ฐานรากที่มั่นคงและสืบค้นได้จากการอ่าน
โครงการตามรอยพ่อขอเป็นนักอ่านจะทำให้นักเรียนบรรลุทักษะด้านการอ่านอย่างเห็นได้เป็นรูปธรรม เพราะการปลูกฝังทักษะในแต่ละระดับชั้นนั้นจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ทั้งห้าทักษะคือ ทักษะการอ่านออก (Decoding Skills) ทักษะการอ่านได้ (Word Processing Skills) ทักษะการอ่านเป็น (Comprehension Reading Skills) ทักษะการอ่านเก่ง (Critical Reading Skills)และทักษะการแสวงหาความรู้ (Study Skills) ที่สำคัญจะเป็นการนำไปสู่การเกิดนิสัยรักการอ่าน ตรงตามมาตรฐานผู้เรียนมาตรฐานที่ ๖ ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองรักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนครูและผู้ปกครองร่วมกิจกรรมรักการอ่านสนใจแสวงหาความรู้จากแหล่งต่างๆรอบตัว  ให้นักเรียนได้บันทึกการอ่านลงในสมุดบันทึกหนูน้อยนักอ่านรายบุคคล  นักเรียนใฝ่รู้ ใฝ่เรียน สนุกกับการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และให้นักเรียนสามารถใช้ห้องสมุด ใช้แหล่งเรียนรู้ และสื่อต่างๆทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง
การดำเนินกิจกรรมในโครงการตามรอยพ่อขอเป็นนักอ่านจะบูรณาการกับการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดปี สิ่งสำคัญที่สุดที่จะผลักดันให้โครงการตามรอยพ่อขอเป็นนักอ่านประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ อยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจจากบุคลากรในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน และผู้ปกครองเพราะผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินกิจกรรมตามโครงการคือ   การสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนรู้รักการอ่านและเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันเป็นสิ่งที่เรา    ทุกคนมุ่งหวังอยากจะให้เกิดขึ้นเพื่อการพัฒนาเด็กไทยให้เป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์


โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ สร้างสรรค์เด็กไทยรักการอ่าน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น