วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ห้องสมุด Seven G กับนโยบาย ห้องสมุด 3 ดี อนุบาลเชียงใหม่


 ในปีงบประมาณ 2552 กระทรวงศึกษาธิการได้กําหนดแผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายสถานศึกษา 3 ดี (3 D) ซึ่งมีกรอบแนวคิดเพื่อให้ การจัดการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน กระบวนการจัดการศึกษาที่สมบูรณ์จึงเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน คือ ด้านหนึ่งเป็นการจัดการเรียน การสอนและจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษาแต่ละช่วงชั้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ กระบวนการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์มีทักษะการดำรงชีวิต ที่เกิดจากการฝึกหัด สามารถใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและประกอบอาชีพ อีกด้านหนึ่ง คือ เป็นการบ่มเพาะ กล่อมเกลา ปลูกฝัง และปลุกจิตสำนึก เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เกิดความตระหนักในบทบาทหน้าที่ขึ้นในจิตใจ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข สถานศึกษาทุกระดับ ทุกสังกัด และหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนและร่วมจัดการศึกษา จึงมีส่วนสำคัญในการจัดการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมที่จะส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาผู้เรียนอย่างเหมาะสมโดยการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นภารกิจทั้ง 3 ด้าน (3 D) ได้แก่ ด้านประชาธิปไตย (Democracy – D 1) ด้านคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นไทย (Decency – D 2) และด้านภูมิคุ้มกันภัย จากยาเสพติด (Drug – Free – D 3) (กระทรวงศึกษาธิการ, 2552 : 1)
คำว่านโยบายสถานศึกษา 3 ดี (3 D) เป็นที่รู้จักเมื่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบนโยบายสถานศึกษา 3 ดี ให้แก่คณะผู้บริหารการศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด ว่า การจัดการศึกษาตลอดชีวิต ในอนาคตจะต้องปรับปรุง และพัฒนาไปตามทิศทางของการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 โดยเป้าหมาย คือ การทำให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ในทุกระดับ และทุกมิติ โดยมุ่งเน้นการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพที่แท้จริง ซึ่ง   คำว่า ห้องสมุด 3 ดี จะต้องประกอบด้วย


โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้โอกาสประกาศเจตนารมณ์ เริ่ม “ทศวรรษแห่งการอ่านแห่งชาติระหว่างปี 2552-2561 เพื่อสร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตว่ารัฐบาลได้กำหนดให้การส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยกำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น "วันรักการอ่าน" และกำหนดให้ปี 2552- 2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่านของชาติ โดยมอบหมายให้จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานรับผิดชอบ
ในปี 2555 ได้กำหนดเป้าหมายไว้คือจะเพิ่มค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสือของคนไทยเป็นเท่าตัว โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันเพิ่มแหล่งการอ่านที่มีหนังสือดีมีคุณค่าให้ครอบคลุมทุกตำบลหรือชุมชน และสร้างภาคีเครือข่ายการอ่าน เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีพอย่างยั่งยืนนายกฯอภิสิทธิ์กล่าว

            ส่วนยุทธศาสตร์หลัก คือ การพัฒนาคนไทยให้มีความรู้ความสามารถด้านการอ่าน และมีนิสัยรักการอ่านนั้น จะปลูกฝังและสร้างทัศนคติให้เห็นคุณค่าและประโยชน์ของการอ่าน โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเป็นภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน และเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง เพื่อส่งเสริมการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไป นอกจากนี้นายกฯอภิสิทธิ์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หนังสือมีความสำคัญต่อการสร้างเสริมภูมิปัญญาและรักษาองค์ความรู้ต่าง ๆ ตลอดจนเป็นเครื่องมือที่ช่วยแพร่กระจายความรู้ให้ขยายออกไปในวงกว้าง รวมทั้งมีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางความคิดและการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพที่จะมีส่วนในการพัฒนาสังคมต่อไป


เมื่อนำนโยบายห้องสมุด 3 ดี มาพิจารณาร่วมกับการดำเนินงานการจัดการศึกษาของโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ที่มุ่งหวังให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน รวมทั้งตระหนักในความสำคัญของการอ่าน ซึ่งจะต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในองค์กร เพื่อผลักดันให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในเรื่องรักการอ่าน จึงได้นำนโยบายของห้องสมุด 3 ดีมาผนวกกับบริบทของโรงเรียนและสิ่งที่เราอยากให้เกิดกับผู้เรียนให้มากที่สุด เพราะการอ่านที่มีคุณภาพจะต้องมีจุดประสงค์และรู้เป้าหมายว่าอ่านเพื่ออะไร และการอ่านที่ดีคืออ่านแล้วคิดวิเคราะห์เป็น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น     การอ่านจึงต้องมีวัฒนธรรมการอ่านจึงจะเป็นการอ่านอย่างมีคุณภาพ ห้องสมุดโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ ตระหนักดีว่าหนังสือที่ดี ต้องไม่ใช่หนังสือที่ครูนำมาสอนเพียงเท่านั้น เช่นเดียวกันต้องไม่ส่งเสริมความรุนแรง ความดีของหนังสือนั้นจึงต้องแบ่งตามวัย เช่น เด็กเล็กก็ต้องเน้นความสนุกสนานนำ และสอดแทรกความรู้นิดหน่อย ส่วนเยาวชน เขาจะสามารถอ่านสิ่งที่เป็นสาระได้มากขึ้น ซึ่งถ้าเราทำให้เด็กสนุกในการอ่าน เขาก็จะรักในการอ่าน เพราะฉะนั้นไม่ว่าเขาจะอ่านเอาเรื่อง หรือเอาความบันเทิงก็ต้องมีให้พร้อม เพราะฉะนั้นหนังสือที่ดี ต้องให้ข้อคิด ต้องมีความงดงามทางภาษา และต้องตอบโจทย์ของมันได้ เช่น หนังสือบันเทิงคดีอ่านแล้วต้องสนุก ผ่อนคลาย หนังสือสาระก็ต้องมีข้อคิด ที่สำคัญหนังสือที่ดี ต้องมีข้อมูลครบ ถูกต้อง เพราะเด็กอาจจดจำข้อมูลที่ผิดพลาดได้ ส่วนความลึกของเนื้อหานั้นก็จะขึ้นอยู่ในแต่ละวัย และความสนใจต่อหนังสือประเภทนั้นๆด้วย เราจึงเกิดแนวคิดพัฒนาเป็น ห้องสมุด seven G ห้องสมุดกรรณิการ์ ส่งเสริมการค้นคว้า พัฒนารักการอ่าน ที่อนุบาลเชียงใหม่ เพื่อให้ตรงกับวิสัยทัศน์ห้องสมุดของเรา คือ ส่งเสริมการอ่าน ผสานความรู้คู่ความดี มีการเชิดชูคนขยัน สร้างสรรค์การค้นคว้า ล้ำหน้าด้วยเทคโนโลยี พัฒนาให้เด็กมีความเป็นเลิศ โดยมีรูปแบบและเป้าหมายของห้องสมุด seven G ดังนี้


การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาให้เป็นห้องสมุด seven G จะไม่มีวันเป็นจริงได้ถ้าขาดความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะบ้านกับโรงเรียน เรามาร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์ของลูกหลานในอันที่จะสร้างความเจริญงอกงามทางปัญญาที่ไม่อยากให้เสื่อมสลายตามกาลเวลา และส่งเสริมให้ทุกคน ได้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง ดูภาพเพิ่มเติม
ครูขวัญ linlada-9@hotmail.com

2 ความคิดเห็น:

  1. คุณครูคนเก่ง คนดีของโรงเรียน
    เป็นกำลังใจให้นะคะ
    ครูรางค์

    ตอบลบ
  2. อุดมการณ์+ความคิด ที่ดีงาม..ในจิตวิญญาณ...ของความเป็นครู...บังเกิดได้ในทุกเวลา ครูขวัญเป็นครูที่ดีมีอุดมการณ์และศักยภาพ
    อย่าท้อ ....ต่ออุปสรรคต่างๆที่เข้ามา(ในใจ)
    ทุกอย่างเมื่อเราตั้งใจทำแล้ว ต้องไปให้ถึง แม้จะมีขวากหนาม
    ตามทางก็ตาม อุปสรรคเหล่านั้น คือพลังให้เราก้าวไป
    ขอให้ครูขวัญเดินหน้าด้วยความเป็นครูอย่างแท้จริง
    เพื่อนักเรียนตัวน้อยๆของเราโดยเฉพาะ ..เป้าหมายที่ครูหวังไว้สูงสุด
    คือ...ยกระดับคุณภาพของพลเมืองของชาติทีมีคุณภาพในอานาคต....
    ขอเป็นกำลังใจให้ สู้..สู้..นะคะ
    จากใจครูคนหนึ่ง

    ตอบลบ